ปัจจุบันมีกฎหมายกำหนดให้เจ้าของเรือโดยสารทุกลำต้องจัดให้มีการ ประกันภัยให้แก่ผู้โดยสาร เพื่อเป็นหลักประกันให้กับผู้โดยสารเรือว่า ในกรณีที่มีอุบัติเหตุใด ๆ เกิดขึ้นซึ่งส่งผลให้ผู้โดยสารเรือได้รับบาดเจ็บ จะมีผู้ที่รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้โดยสารเรืออย่างน้อยที่สุด จำนวนหนึ่งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ทางการเงินของทั้งผู้ประสบภัยและเจ้าของเรือ

เรือสำหรับโดยสาร หมายถึง เรือประเภทใดบ้าง

เรือโดยสาร ที่เข้าลักษณะต้องทำประกันภัยนั้น หมายความถึง เรือที่ระบุประเภทการใช้ไว้ในใบอนุญาตใช้เรือให้เป็นเรือประเภทเรือโดยสาร หรือเรือประเภทอื่นที่อนุญาตให้ใช้บรรทุกผู้โดยสารได้ด้วย ทั้งนี้ เป็นการบรรทุกผู้โดยสารตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไป ไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าเรือโดยสารนั้นจะวิ่งในเส้นทางใด ทั้งในคลอง ในแม่น้ำ ระหว่างแม่น้ำและทะเล และในทะเลด้วย

เรือที่มีประกันภัยแล้ว หากเกิดอุบัติเหตุขึ้น ผู้โดยสารจะได้รับความคุ้มครองอย่างไร

ผู้โดยสารที่ประสบอุบัติเหตุเนื่องจากการใช้บริการเรือโดยสาร จะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยผู้โดยสารเรือสำหรับโดยสาร สำหรับความเสียหายจากอุบัติเหตุจนถึงแก่ความตาย ทุพพลภาพหรือบาดเจ็บ โดยจำนวนเงินประกันภัยที่ได้รับความคุ้มครองมีดังต่อไปนี้

  1. เสียชีวิต คนละ 100,000 บาท
  2. สูญเสียตาหรือสายตาสองข้าง คนละ 100,000 บาท
  3. สูญเสียแขนหรือขา หรือสมรรถภาพในการใช้แขนหรือขาสองข้าง คนละ 100,000 บาท
  4. สูญเสียแขนหรือสมรรถภาพในการใช้แขนหนึ่งข้าง และสูญเสียขาหรือสมรรถภาพในการใช้ขาหนึ่งข้าง คนละ 100,000 บาท
  5. สูญเสียแขนหรือขา หรือสมรรถภาพในการใช้แขนหรือขาหนึ่งข้าง และสูญเสียตาหรือสายตาหนึ่งข้าง คนละ 100,000 บาท
  6. ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง คนละ 100,000 บาท (ไม่สามารถทำงานเลี้ยงชีพอย่างหนึ่งอย่างใดได้ตลอดไป)
  7. สูญเสียตาหรือสายตาหนึ่งข้าง คนละ 60,000 บาท
  8. สูญเสียแขนหรือขา หรือสมรรถภาพในการใช้แขนหรือขาหนึ่งข้าง คนละ 60,000 บาท
  9. ค่ารักษาพยาบาล คนละไม่เกิน 15,000 บาท

กรมธรรม์นี้ให้ความคุ้มครองหลักเฉพาะต่อผู้โดยสาร แต่ผู้เอาประกันภัยสามารถขอขยายความคุ้มครองเพิ่ม ถึงคนประจำเรือได้ โดยการจ่ายเบี้ยประกันภัยเพิ่มเติม

เรือทุกลำจะใช้กรมธรรม์มาตรฐานเดียวกันแต่ทั้งนี้ผู้เอาประกันสามารถขอเพิ่มจำนวนเงินเอาประกันภัย ให้มากจากภาคบังคับได้โดยการจ่ายเบี้ยประกันภัยเพิ่มเติม

แนวทางปฏิบัติในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน

ในกรณีที่ผู้โดยสารประกันภัยจากเรือที่มีประกันภัยนั้น เจ้าของเรือผู้เอาประกันภัย จะต้องนำส่งหลักฐาน เกี่ยวกับการเกิดอุบัติเหตุและเอกสารเกี่ยวกับผู้โดยสารที่ประสบภัยโดยในกรณีที่มีการเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ต้องส่งหลักฐานให้แก่บริษัทประกันภัยภายใน 30 วัน นับจากวันที่เสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง และในกรณีบาดเจ็บ ต้องส่งหลักฐานภายใน 180 วัน นับจากวันเกิดอุบัติเหตุ

ในกรณีที่เรือโดยสารลำใดไม่มีการประกันภัย เจ้าของเรือจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้โดยสารเรือ

การกำหนดเบี้ยประกันภัยและประโยชน์ในการทำประกันภัย

เนื่องจากกฎกระทรวงคมนาคม ฉบับที่ 73 (พ.ศ. 2549) กำหนดให้เจ้าของเรือผู้ประกอบการเดินเรือสำหรับโดยสาร ต้องจัดให้มีการประกันภัยอุบัติเหตุที่มีผลคุ้มครองผู้โดยสาร ตามระยะเวลาที่กำหนดในใบอนุญาตใช้เรือ ดังนั้น เจ้าของเรือที่เข้าเกณฑ์ตามกฎกระทรวง ดังกล่าวจึง ต้องทำประกันภัย

สำหรับเบี้ยประกันภัยที่เจ้าของเรือจะต้องจ่ายนั้น สำหรับการทำประกันภัยผู้โดยสารเรือสำหรับโดยสารภาคบังคับ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ อาทิเช่น เส้นทางการเดินเรือ (ในคลอง หรือในแม่น้ำระหว่างแม่น้ำและทะเล หรือในทะเล) ขนาดและชนิดของเรือรวมทั้งจำนวนผู้โดยสารในเรือลำนั้น ๆ ทั้งนี้เบี้ยประกันภัยจะเป็นดังนี้

✅ จำนวนผู้โดยสาร 1-12 คน อัตราเบี้ยปรับอยู่ระหว่าง 50-80 บาทต่อผู้โดยสาร 1 คนต่อปี

✅ จำนวนผู้โดยสารตั้งแต่ 13 คนขึ้นไป อัตราเบี้ยปรับอยู่ระหว่าง 100-150 บาทต่อผู้โดยสาร 1 คนต่อปี

ดังนั้น หากเรือลำใดสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ครั้งละ 20 คน เบี้ยประกันภัยที่เจ้าของเรือลำนั้นจะต้องจ่ายคือ ประมาณ 2 – 3 พันบาทต่อปี

ประโยชน์ที่เจ้าของเรือจะได้รับคือ ในกรณีที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น อันเป็นผลมาจากการกระทำของเจ้าของเรือหรือตัวแทน เจ้าของเรือจะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้บาดเจ็บทั้งหลาย หากเจ้าของเรือได้มีการทำประกันภัยไว้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของเรือในการบรรเทาความเดือนร้อน ทางด้านการเงินที่จะต้องจ่ายชดเชยให้แก่ผู้ประสบภัย

#การประกันภัยผู้โดยสารเรือ #เรือสำหรับโดยสาร #การประกันภัยเรือ #การชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้โดยสารเรือ #เจ้าของเรือ #เบี้ยประกันภัยเรือ #ค่าสินไหมทดแทน #ผู้ประสบภัย #เจ้าของเรือโดยสาร #Prakan4U